งานด้านวิชาการและการบริหารคณะสงฆ์ ของ สมเด็จพระพุฒาจารย์ (เกี่ยว อุปเสโณ)

พ.ศ. 2494-2514

สมเด็จพระพุฒาจารย์ (เกี่ยว อุปเสโณ) ภาพเมื่อเป็นพระราชาคณะที่ พระเทพคุณาภรณ์ ปี 2507:องค์กลางในรูป

สมเด็จพระพุฒาจารย์ ได้เริ่มต้นงานด้านวิชาการและการบริหารคณะสงฆ์ ในปี พ.ศ. 2494 โดยเป็นครูสอนปริยัติธรรม ต่อได้เป็นกรรมการตรวจธรรมสนามหลวง ในปี พ.ศ. 2496 และเป็นกรรมการตรวจบาลีสนามหลวง ในปี พ.ศ. 2497 ในปีเดียวกัน ได้เป็นกรรมการพิเศษแผนกตรวจสำนวนแปลพระวินัยปิฏก ฉบับ พ.ศ. 2500 ของคณะสงฆ์[24]

ในปี พ.ศ. 2500 สมเด็จพระพุฒาจารย์ได้เป็นอาจารย์สอนภาษาบาลีที่มหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย ในพระบรมราชูปถัมภ์ ในปีต่อมาได้เลื่อนเป็นหัวหน้าแผนกบาลีธรรม และเป็นอาจารย์สอนพระสูตร และประธานหัวหน้าแผนกคณะพุทธศาสตร์ มหาจุฬาลงกรณ์ราชวิทยาลัย ในพระบรมราชูปถัมภ์ ในปี พ.ศ. 2502 ได้รับการแต่งตั้งเป็นผู้ช่วยอธิการบดี และหัวหน้าแผนกธรรมวิจัย ของมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย ในพระบรมราชูปถัมภ์[24]

ในปี พ.ศ. 2506 สมเด็จพระพุฒาจารย์ ได้รับเลือกเป็นอนุกรรมการมหาเถรสมาคม ในปี พ.ศ. 2507 ได้รับเลือกเป็น เลขาธิการมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย ในพระบรมราชูปถัมภ์ และได้รับพระบัญชาแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งรองเจ้าคณะภาค 9 (เขตปกครองจังหวัด ขอนแก่น, มหาสารคาม, กาฬสินธุ์, ร้อยเอ็ด)[24] ในปี พ.ศ. 2508 ได้รับพระบัญชาแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งเจ้าคณะภาค 9 และเป็นเลขานุการสมเด็จพระสังฆราช[24]

ในปี พ.ศ. 2513 สมเด็จพระพุฒาจารย์ ได้รับเลือกเป็นกรรมการร่างหลักสูตรโรงเรียนพระปริยัติธรรม แผนกสามัญศึกษา และเป็นผู้รักษาการแทนเจ้าอาวาสวัดสระเกศ ต่อมาในปี พ.ศ. 2514 ได้รับพระบัญชาแต่งตั้งเป็นเจ้าอาวาสวัดสระเกศ[24]

กรรมการมหาเถรสมาคม

ในปี พ.ศ. 2516 สมเด็จพระพุฒาจารย์ ได้เป็นกรรมการมหาเถรสมาคม และได้รับพระมหากรุณาธิคุณโปรดเกล้าฯ สถาปนาเป็น รองสมเด็จพระราชาคณะ เป็นรูปที่ 3 ในประวัติศาสตร์แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ ที่ได้รับสถาปนาแต่งตั้งขึ้นเป็นรองสมเด็จพระราชาคณะที่มีอายุไม่ถึง 50 ปี[25]

ภาพ:สมเด็จพระพุฒาจารย์ (เกี่ยว อุปเสโณ) ปฏิบัติหน้าที่แทนสมเด็จพระสังฆราช ในพิธีทรงตั้งและเลื่อนสมณศักดิ์พระครูสัญญาบัตร ในเขตปกครองคณะสงฆ์หนใต้ ประจำปี พ.ศ. 2549

ต่อมาในปี พ.ศ. 2524 ได้รับพระบัญชาแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งเจ้าคณะภาค 10 (เขตปกครองจังหวัดอุบลราชธานี, ศรีสะเกษ, นครพนม, ยโสธร, มุกดาหาร, อำนาจเจริญ) ในปี พ.ศ. 2528 ได้ เป็นประธานกรรมาธิการสังคายนาพระธรรมวินัย ตรวจชำระพระไตรปิฎก ในมหามงคลวโรกาสเฉลิมพระชนมพรรษาครบ 5 รอบของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว

ในปี พ.ศ. 2532 สมเด็จพระพุฒาจารย์ ได้รับพระบัญชาแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งเจ้าคณะหนใหญ่หนตะวันออก และในปี พ.ศ. 2534 ได้เป็นประธานกรรมการจัดการชำระและพิมพ์อรรถกถาพระไตรปิฎก เฉลิมพระเกียรติ สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ เนื่องในมหามงคลวโรกาสเฉลิมพระชนมพรรษา 5 รอบ เมื่อวันที่ 12 สิงหาคม พ.ศ. 2535 ในปี พ.ศ. 2540 สมเด็จพระพุฒาจารย์ ได้รับพระบัญชาแต่งตั้งเป็น ประธานคณะกรรมการฝ่ายเผยแผ่พระพุทธศาสนา ของมหาเถรสมาคม และเป็นประธานคณะกรรมการช่วยเหลือผู้ประสบภัยธรรมชาติและอุบัติภัย

นอกจากนั้น สมเด็จพระพุฒาจารย์ เป็นผู้ริเริ่มตั้งโรงพิมพ์กรมการศาสนา และได้แสดงธรรมทางสถานีวิทยุ 919 ในรายการ “ของดีจากใบลาน” เป็นประจำ[26]

งานพิเศษ

ภารกิจต่างประเทศ

สมเด็จพระพุฒาจารย์ ได้เริ่มต้นงานด้านวิชาการและการบริหารคณะสงฆ์ ในปี พ.ศ. 2498 ได้ไปร่วมประชุมฉัฏฐสังคีติ ณ ประเทศพม่า ในปี พ.ศ. 2505 สมเด็จพระพุฒาจารย์ ได้เป็นหัวหน้าคณะเดินทางไปดูการศาสนาและเพื่อศาสนสัมพันธ์ที่เกาหลี ญี่ปุ่น ไต้หวัน และฮ่องกง ต่อมาใน ปี พ.ศ. 2510 ได้เป็นหัวหน้าคณะเดินทางไปสังเกตการณ์ การศึกษาพระพุทธศาสนาที่ลาว ศรีลังกา ญี่ปุ่น ไต้หวัน ฮ่องกง ในปี พ.ศ. 2512 เป็นกรรมการอำนวยการฝึกอบรมพระธรรมทูต

ในปี พ.ศ. 2515 สมเด็จพระพุฒาจารย์ ได้ไปสังเกตการณ์การศึกษาทางพระพุทธศาสนาของมหาวิทยาลัยต่าง ๆ ในสหรัฐอเมริกา และในปี พ.ศ. 2525 ได้รับตำแหน่งรองประธานสภาสงฆ์แห่งโลก[16][27]

ผู้ปฏิบัติหน้าที่สมเด็จพระพระสังฆราช ประธานคณะผู้ปฏิบัติหน้าที่สมเด็จพระสังฆราช และประธานสมัชชามหาคณิสสร

ผู้ปฏิบัติหน้าที่สมเด็จพระสังฆราช

หนังสือ “ขอรับพระบัญชาสมเด็จพระสังฆราช” ที่ พศ 0006/3 วันที่ 15 มกราคม พ.ศ. 2547

ตามที่สมเด็จพระญาณสังวร สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก ประชวร และเสด็จประทับรักษาพระองค์ ณ โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ มาตั้งแต่ต้นปี พ.ศ. 2545 ทำให้ทรงไม่สามารถปฏิบัติพระศาสนกิจได้สะดวก ด้วยเหตุนี้ รัฐบาลจึงได้ขอความเห็นจากคณะแพทย์และคณะกรรมการวัดบวรนิเวศวิหาร มีพระเทพสารเวที (บุญยนต์ ปุญฺญาคโม) ผู้ปฏิบัติหน้าที่เลขานุการสมเด็จพระสังฆราชเป็นประธาน เสนอที่ประชุมกรรมการมหาเถรสมาคมในวันที่ 9 มกราคม พ.ศ. 2547 ที่ประชุมกรรมการมหาเถรสมาคม มีมติอนุโมทนาสนองข้อเสนอดังกล่าว โดยให้แต่งตั้งผู้ปฏิบัติหน้าที่สมเด็จพระสังฆราชเป็นการชั่วคราว[28] และโดยที่สมเด็จพระพุทธปาพจนบดี (ทองเจือ จินฺตากโร) วัดราชบพิธสถิตมหาสีมาราม เป็นสมเด็จพระราชาคณะผู้มีอาวุโสสูงสุดโดยสมณศักดิ์ มีอายุถึง 96 ปี (ณ เวลานั้น) อีกทั้งยังอาพาธ ไม่อาจปฏิบัติหน้าที่ได้เช่นกัน จึงเห็นสมควรให้สมเด็จพระราชาคณะมีอาวุโสสูงสุดโดยสมณศักดิ์ลำดับถัดไป ได้แก่ สมเด็จพระพุฒาจารย์ โดยมีสมเด็จพระราชาคณะและพระราชาคณะอื่นอีก 5 รูป เป็นผู้ช่วยปฏิบัติหน้าที่[28] โดยที่สำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติได้ประกาศในราชกิจจานุเบกษา เมื่อวันที่ 14 มกราคม พ.ศ. 2547 โดยมีนาย วิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี เป็นผู้ลงนาม[29] ซึ่งสมเด็จพระสังฆราชได้มีพระบัญชาว่า “ทราบและเห็นชอบ” เมื่อวันที่ 26 มกราคม พ.ศ. 2547 อย่างไรก็ตาม ในปลายปี พ.ศ. 2548 หนังสือพิมพ์ผู้จัดการออนไลน์ ได้กล่าวหาว่า ลายมือเขียน “ทราบและเห็นชอบ” ไม่ได้เป็นของสมเด็จพระสังฆราช แต่เป็นของพระเทพสารเวที เลขานุการสมเด็จพระสังฆราช[30]

สมเด็จพระพุฒาจารย์ ได้ปฏิบัติหน้าที่แทนสมเด็จพระสังฆราช ในช่วงต้นปี พ.ศ. 2547 เช่น เป็นประธานในพิธีวันวิสาขบูชาโลก ในช่วง 30 พ.ค. ถึง 3 มิ.ย. ซึ่งนับเป็นครั้งแรกในประเทศไทยที่คณะสงฆ์ในโลกทั้ง 3 นิกาย คือ เถรวาท มหายาน และวัชรยาน ได้มาประกอบพิธีกรรมทางศาสนาร่วมกันในสถานที่เดียวกัน[31]

ประธานคณะผู้ปฏิบัติหน้าที่สมเด็จพระสังฆราช

สมเด็จพระพุฒาจารย์ (เกี่ยว อุปเสโณ) ขณะทำหน้าที่คณะผู้ปฏิบัติหน้าที่สมเด็จพระสังฆราช (สังเกตร่ม)

ต่อมาการแต่งตั้งนั้นได้สิ้นสุดลงเพราะครบระยะเวลาที่กำหนด พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ตราพระราชกำหนดแก้ไขเพิ่มเติมพระราชบัญญัติคณะสงฆ์ พ.ศ. 2505 และ พ.ศ. 2547 เพื่อให้มีคณะผู้ปฏิบัติหน้าที่สมเด็จพระสังฆราช ประกาศในราชกิจจานุเบกษา วันที่ 17 กรกฎาคม พ.ศ. 2547[32] มหาเถรสมาคม มีมติเป็นเอกฉันท์ในการประชุม เมื่อวันที่ 20 กรกฎาคม พ.ศ. 2547 ให้แต่งตั้ง คณะผู้ปฏิบัติหน้าที่สมเด็จพระสังฆราช เพื่อบริหารกิจการคณะสงฆ์แทนสมเด็จพระญาณสังวรฯ ซึ่งคณะผู้ปฏิบัติหน้าที่สมเด็จพระสังฆราช ประกอบด้วยสมเด็จพระราชาคณะและพระราชาคณะ รวม 7 รูป จากพระอาราม 7 วัด ทั้งจากฝ่ายมหานิกายและธรรมยุติกนิกาย โดยมีสมเด็จพระพุฒาจารย์ ในฐานะมีอาวุโสสูงสุดโดยสมณศักดิ์ที่สามารถปฏิบัติหน้าที่ได้ ทำหน้าที่ประธาน

นอกจากสมเด็จพระพุฒาจารย์แล้ว ยังมีสมเด็จพระราชาคณะอีก 6 รูป ในคณะผู้ปฏิบัติหน้าที่สมเด็จพระสังฆราช มีดังต่อไปนี้

  1. สมเด็จพระมหาธีราจารย์ (นิยม ฐานิสฺสโร) เจ้าอาวาสวัดชนะสงครามราชวรมหาวิหาร (มหานิกาย, อุปสมบท เมื่อ พ.ศ. 2487, ได้เป็นสมเด็จพระราชาคณะเมื่อปี พ.ศ. 2535 โดยเป็นพระผู้มีอาวุโสโดยสมณศักดิ์รองจากสมเด็จพระพุฒาจารย์) [3][33]
  2. สมเด็จพระมหารัชมังคลาจารย์ (ช่วง วรปุญฺโญ) เจ้าอาวาสวัดปากน้ำ ภาษีเจริญ (มหานิกาย, อุปสมบท เมื่อ พ.ศ. 2488, ได้เป็นสมเด็จพระราชาคณะเมื่อปี พ.ศ. 2538) [34]
  3. สมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์ (พุฒ สุวฑฺฒโน) เจ้าอาวาสวัดสุวรรณารามราชวรวิหาร (มหานิกาย, อุปสมบท เมื่อ พ.ศ. 2471) [35]
  4. สมเด็จพระพุทธชินวงศ์ (ประจวบ กนฺตาจาโร) เจ้าอาวาสวัดมกุฏกษัตริยารามราชวรวิหาร (ธรรมยุต, อุปสมบท เมื่อ พ.ศ. 2483, ได้เป็นสมเด็จพระราชาคณะเมื่อปี พ.ศ. 2543) [36]
  5. สมเด็จพระมหาวีรวงศ์ (มานิต ถาวโร) เจ้าอาวาสวัดสัมพันธวงศาราม วรวิหาร (ธรรมยุต, อุปสมบท เมื่อ พ.ศ. 2480, ได้เป็นสมเด็จพระราชาคณะเมื่อปี พ.ศ. 2544) [37]
  6. สมเด็จพระญาณวโรดม (ประยูร สนฺตงฺกุโร) เจ้าอาวาสวัดเทพศิรินทราวาส ราชวรวิหาร (ธรรมยุต, อุปสมบท เมื่อ พ.ศ. 2480, ได้เป็นสมเด็จพระราชาคณะเมื่อปี พ.ศ. 2546) [38][39]

สมเด็จพระพุฒาจารย์ ได้ปฏิบัติหน้าที่แทนสมเด็จพระสังฆราช ในช่วงปี พ.ศ. 2547 ถึงปี พ.ศ. 2549 เช่น เป็นประธานในพิธีวันวิสาขบูชาโลก ประจำปี พ.ศ. 2548 โดยมีผู้นำศาสนาพุทธจาก 41 ประเทศเข้าร่วม และกล่าวเปิดประชุมโดยการประกาศให้ผู้นำศาสนาพุทธทั่วโลกร่วมกันยกย่ององค์พระมหากษัตริย์ไทย ที่ทรงเป็นองค์พุทธมามกะประเสริฐยิ่งในการทำนุบำรุงพระพุทธศาสนา พร้อมแนะให้ใช้หลักแห่งพุทธะดับความร้อนรุ่มของโลก[40]

ข้อวิจารณ์กรณีแต่งตั้งประธานคณะผู้ปฏิบัติหน้าที่สมเด็จพระสังฆราช

นายสนธิ ลิ้มทองกุล และพระธรรมวิสุทธิมงคล (บัว ญาณสมฺปนฺโน) ได้กล่าวว่า สมเด็จพระญาณสังวรฯ ไม่ได้ทรงพระประชวร แต่เพราะทรงเจริญพระชนมายุมากแล้วเท่านั้น จริง ๆ แล้วทรงแจ่มใส ปฏิบัติพระศาสนกิจได้ การแต่งตั้งคณะผู้ปฏิบัติหน้าที่สมเด็จพระสังฆราชจึงมิชอบ[6][5] หลวงตามหาบัวยังได้กล่าวหาว่า สมเด็จพระพุฒาจารย์ เป็นมหาโจรและทำอะไรไม่ได้ดีไว้หลายอย่าง[7] ช่วงเดือนมีนาคม พ.ศ. 2548 หลวงตามหาบัวจึงได้มอบหมายให้นายทองก้อน วงศ์สมุทร ถวายฎีกาแก่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ขอพระราชทานบิณฑบาตถอดสมณศักดิ์สมเด็จพระพุฒาจารย์ ฐานขัดพระธรรมวินัย ดำเนินการประชุมมหาเถรสมาคมโดยไม่เป็นไปตามกฎระเบียบ และร่วมมือกับนายวิษณุ เครืองาม ทำลายหลักพระธรรมวินัยของพระพุทธศาสนา และขนบธรรมเนียมโบราณราชประเพณี ตลอดจนศีลธรรมอันดี[8][41] ในเวลาต่อมา หลวงตามหาบัวได้นำคณะสงฆ์และฆราวาสนับหมื่น ไปชุมนุมใหญ่ต้านสมเด็จพระพุฒาจารย์[42] ในรายการเมืองไทยรายสัปดาห์ นายสนธิ ลิ้มทองกุล ได้ออกมากล่าวว่า "กรณีหลวงตามหาบัว ญาณสัมปันโน ถวายฎีกาเป็นการปกป้องสถาบันศาสนา และสถาบันกษัตริย์ไม่ให้อ่อนแอ"[43]

อย่างไรก็ตาม ช่วงเดือนสิงหาคม พ.ศ. 2549 หลวงตามหาบัวได้ออกคำสั่งให้นายทองก้อนออกจากวัด และห้ามยุ่งเกี่ยวกับเรื่องใดๆ ของวัดป่าบ้านตาดอีกต่อไป เนื่องจากประพฤติไม่เหมาะสมอย่างรุนแรง เกี่ยวกับการบริหารสถานีวิทยุเสียงธรรมชุมชน จึงทำให้แนวร่วมต่อต้านสมเด็จพระพุฒาจารย์ได้อ่อนแอลง[44]

ในทางตรงข้าม คอลัมนิสต์แมงเม่า แห่ง หนังสือพิมพ์เดลินิวส์ ได้ออกมากล่าวว่าสมเด็จพระพุฒาจารย์ได้ปฏิบัติหน้าที่ประธานคณะผู้ปฏิบัติหน้าที่สมเด็จพระสังฆราชอย่างถูกต้อง ตามที่ได้รับมอบหมาย[45] และผู้สนับสนุนสมเด็จพระพุฒาจารย์ ได้มีการรวมตัวกันเพื่อแสดงความเคารพและความสนับสนุนเป็นจำนวนมาก[3]

การปฏิบัติหน้าที่หลังจากการรัฐประหารในประเทศไทย พ.ศ. 2549

หลังจากการรัฐประหารในประเทศไทย พ.ศ. 2549 ได้มีผู้ปลอมแปลงร่างพระบัญชาสมเด็จพระสังฆราช ให้ยกเลิกคณะผู้แทนปฏิบัติหน้าที่สมเด็จพระสังฆราชเดิม และตั้งคณะผู้แทนปฏิบัติหน้าที่สมเด็จพระสังฆราชใหม่ โดยมีสมเด็จพระมหาธีราจารย์เป็นประธาน และสมเด็จพระพุฒาจารย์เป็นที่ปรึกษา[46] ในวันต่อมา คุณหญิง ทิพาวดี เมฆสวรรค์ รมต.ประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ในฐานะกำกับ สำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ ได้กล่าวว่า ไม่ทราบว่าใครส่งพระบัญชาปลอมมาให้ดู[47] ส่วนเลขานุการสมเด็จพระสังฆราชยืนยันว่าตนไม่ทราบว่าผู้ใดทำเอกสารปลอมแต่อย่างใด คณะกรรมการวัดบวรนิเวศวิหารได้ให้ผู้แทนแจ้งความร้องทุกข์แก่พนักงานสอบสวน เพื่อหาผู้กระทำการปลอมพระบัญชา[48]

ในช่วงเวลาเดียวกัน สมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ กว่า 30 คน นำโดยนายไพศาล พืชมงคล ได้เตรียมยื่นหนังสือเสนอร่าง พ.ร.บ.คณะสงฆ์ เพื่อให้สภานิติบัญญัติแห่งชาติพิจารณาและตราเป็นพระราชบัญญัติ โดยเสนอให้ นับอาวุโสของสมเด็จและพระราชาคณะโดยพรรษา (แทนการนับอาวุโสตามสมณศักดิ์แต่เดิม) ซึ่งจะทำให้พระราชาคณะที่มีอาวุโสสูงสุดเป็นพระฝ่ายธรรมยุตินิกาย[49][50] พ.ร.บ. คณะสงฆ์ ฉบับแก้ไข พ.ศ. 2535 (ซึ่งเป็นฉบับที่ใช้อยู่ในเวลานั้น) กำหนดไว้ว่า ผู้ที่จะได้รับโปรดเกล้าฯ เป็นสมเด็จพระสังฆราช ต้องมีอาวุโสทางสมณศักดิ์สูงที่สุด โดยดูจากการที่พระสงฆ์รูปนั้น ได้รับโปรดเกล้า ฯ เป็นสมเด็จพระราชาคณะ ชั้นสุพรรณบัฏ (คือมีการจารึกชื่อและราชทินนามลงบนแผ่นทองคำแท้) ก่อนพระสงฆ์รูปอื่น ๆ[3] ในเวลาเดียวกัน ได้มีผู้เรียกร้องให้รัฐบาลทหารเสนอร่างกฎหมายแก้ไข พ.ร.บ.คณะสงฆ์ เข้าสู่สภานิติบัญญัติแห่งชาติ โดยเปลี่ยนให้ พระราชอำนาจในการสถาปนาสมเด็จพระสังฆราช เป็นพระราชอำนาจโดยสมบูรณ์ของพระมหากษัตริย์ โดยไม่มีข้อจำกัด ในเรื่องของความอาวุโสทางพรรษาหรือสมณศักดิ์[51]

สมเด็จพระพุฒาจารย์ ได้ปฏิบัติหน้าที่ประธานคณะผู้ปฏิบัติหน้าที่สมเด็จพระสังฆราช ตามปกติในช่วงปลายปี พ.ศ. 2549 และต้นปี พ.ศ. 2550 เช่น เป็นประธานสังคายนาพระธรรมวินัยตรวจชำระพระไตรปิฎก เพื่อเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เนื่องในวโรกาสพระราชพิธีมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา 80 พรรษา 5 ธันวาคม พุทธศักราช 2550 (ครั้งหลังสุดที่เคยมีการชำระพระไตรปิฎก คือ เมื่อประมาณ 30 ปีที่ผ่านมา เมื่อครั้งมหามงคลดิถีที่มีพระชนมพรรษาจะบรรจบครบ 5 รอบนักษัตร ในวันที่ 5 ธันวาคม พ.ศ. 2530)[52]

ใกล้เคียง

สมเด็จพระพุฒาจารย์ สมเด็จพระพุฒาจารย์ (โต พฺรหฺมรํสี) สมเด็จพระพุฒาจารย์ (เกี่ยว อุปเสโณ) สมเด็จพระพุฒาจารย์ (อาจ อาสโภ) สมเด็จพระพุฒาจารย์ (สนิท ชวนปญฺโญ) สมเด็จพระพุฒาจารย์ (นวม พุทฺธสโร) สมเด็จพระพุฒาจารย์ (เข้ม ธมฺมสโร) สมเด็จพระพุฒาจารย์ (เสงี่ยม จนฺทสิริ) สมเด็จพระพุฒาจารย์ (วน ฐิติญาโณ) สมเด็จพระพุฒาจารย์ (โสม ฉนฺโน)

แหล่งที่มา

WikiPedia: สมเด็จพระพุฒาจารย์ (เกี่ยว อุปเสโณ) http://202.44.204.76/cgi-bin/kratoo.pl/011196.htm http://202.57.155.219/Local/ViewNews.aspx?NewsID=9... http://news.ch7.com/detail/41521/%E0%B8%AA%E0%B8%A... http://news.ch7.com/detail/42072/%E0%B8%AD%E0%B8%8... http://news.ch7.com/detail/46616/%E0%B8%AD%E0%B8%8... http://news.ch7.com/detail/53179/%E0%B8%AD%E0%B8%8... http://news.ch7.com/detail/63944/%E0%B8%AA%E0%B8%A... http://www.jariyatam.com/news/education-news/1067-... http://www.komchadluek.com/column/pra/2005/03/17/0... http://www.managerradio.com/Radio/DetailRadio.asp?...